บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ที่ให้ความสนใจ ผู้จัดทำขอขอบคุณทุกท่านที่เขามาเยี่ยมชม

13 ก.ย. 2555

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้กล่าวถึงเรื่องของตลาดการเงินกันไปแล้ว สำหรับสัปดาห์นี้เราขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับอนุพันธ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) ว่าคืออะไร นะครับ "อนุพันธ์ หรือ Derivatives" จัดเป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุนชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยหลักการแล้ว อนุพันธ์เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง แต่จะอ้างอิงกับมูลค่าจากสินทรัพย์อื่นแทน อนุพันธ์เป็นที่นิยมในตลาดการเงินของโลก เนื่องจากอนุพันธ์สามารถออกแบบให้มีความหลากหลายได้ตามลักษณะการลงทุน นอกจากนี้มูลค่าของอนุพันธ์นั้นๆ ยังสามารถเชื่อมโยงกับราคาสินทรัพย์มากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไป หรือ สินทรัพย์ต่างประเภท หรือ เชื่อมโยงกับมูลค่าของอนุพันธ์ด้วยกันเองก็ได้
สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) เป็นอนุพันธ์ที่ค่อนข้างเรียบง่าย และมีการซื้อขายกันอย่างแพร่หลายในตลาดล่วงหน้าทั่วโลก โดยมูลค่าของ Futures นั้น จะมีค่าเท่ากับราคาของทรัพย์สินอ้างอิง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต เราสามารถแบ่งสัญญา Futures ออกเป็นกลุ่มตามสินทรัพย์ที่ใช้อ้างอิง (Underlying) และในแต่ละกลุ่มยังสามารถแบ่งได้เป็น Series ตามวันหมดอายุของสัญญา (Maturity Date) ตัวอย่างเช่น Futures น้ำมัน NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม 2551 เป็นต้น มูลค่าของสัญญา Futures มักจะเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับราคาที่ใช้ซื้อขายสินทรัพย์ในปัจจุบัน เนื่องจากนักลงทุนทั่วไปจะใช้ราคาในปัจจุบัน ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มอุปสงค์-อุปทานของสินทรัพย์นั้นๆ เป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ราคา
ในการซื้อขายสัญญา Futures ใน Series หนึ่งๆ จะต้องมีผู้เสนอราคาซื้อ (Long Side) และผู้เสนอราคาขาย (Short Side) หากผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงราคาที่สองฝ่ายพอใจก็จะเกิดสัญญา Futures ขึ้น ซึ่งตราบใด ที่ผู้ซื้อ และผู้ขาย ยังมีความต้องการที่จะซื้อขาย ปริมาณการเกิดของสัญญานั้นก็สามารถมีได้ไม่จำกัดจำนวน ผิดกับตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีจำนวนหุ้นเท่ากับที่ได้จดทะเบียนไว้ ทั้งนี้ท่านผู้อ่านจะสามารถดูจำนวนสัญญา Futures ที่เปิดอยู่ในตลาดทั้งหมด ได้จากข้อมูล สถานะคงค้าง หรือ Open Interest (OI) ครับ
ผลตอบแทนที่เกิดจากการซื้อขายสัญญา Futures นั้น จะเกิดขึ้นเมื่อราคาของสัญญา Futures เปลี่ยนแปลงไปจากราคาที่นักลงทุนเข้ามาเปิดสัญญา โดยนักลงทุนที่เข้ามาถือสถานะซื้อล่วงหน้า (Long Position) จะมีผลตอบแทนเมื่อราคา Futures ปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกันนักลงทุนที่เข้ามาถือสถานะขายล่วงหน้า (Short Position) จะแสวงหาผลตอบแทนจากราคา Futures ที่ปรับตัวลดลง
ในประเทศไทย มีตลาดซื้อขายสัญญา Futures หรือ ที่เรียกกันว่าตลาดล่วงหน้าอยู่สองตลาดด้วยกัน ได้แก่
1. ตลาดอนุพันธ์แห่งประเทศไทย (TFEX) เป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย Futures ที่อิงมูลค่าจากตัวเลขดัชนี SET50 นักลงทุนจะสามารถเข้ามาใช้ SET50 Index Futures เป็นช่องทางทำกำไรได้ตลอดเวลาไม่ว่าตลาดหุ้นจะเคลื่อนไหวอยู่ในแนวบวกหรือแนวลบ หรือจะใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงแก่หลักทรัพย์ที่ตนเองถืออยู่ก็ได้
2. ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย Futures ที่อ้างอิงมูลค่าจากราคาสินค้าเกษตรประเภทต่างๆ ได้แก่ ยางพารา ข้าว และมันสำปะหลัง ซึ่งนอกจากนักลงทุนจะเข้ามาแสวงหาผลกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าแล้ว การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านสินค้าเกษตรในตลาด AFET ยังเป็นเพียงช่องทางเดียวที่นักลงทุนในประเทศจะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ Commodities ได้ โดยไม่ต้องทำธุรกิจค้าขายในสินค้านั้นๆ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจค้าขายสินค้าเกษตรก็สามารถเข้ามาใช้ Futures เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้านั้นๆ ได้อีกด้วย
www.afet.or.th   หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน 23 มกราคม 2551

NIDAITM CONTEST2 วิธีการและแนวทางในการลงทุน ของ วอร์เร็น บัฟเฟตต์ by NIDAITM CONTEST2


หุ้นไม่ใช่เพียงแค่กระดาษแผ่นหนึ่งอย่างที่หลายๆคนคิด  มันเป็นเอกสารที่แสดงถึงความมีส่วนเป็นเจ้าของในกิจการนั้นด้วย เมือคิดจะลงทุน  จงใช้มุมมองอย่างเจ้าของกิจการในการเลือกลงทุน มุ่งเน้นลงไปในกิจการและข้อมูลเบี้องหลัง  ไม่ใช่แค่มองว่ามันเป็นแค่หุ้น ต้องรู้ใช้ชัดว่ากิจการนี้ทำอะไร และทำได้ดีแค่ไหน? พิจารณาลงทุนเฉพาะกิจการที่เราเข้าใจได้  เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถที่จะค้นหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการที่เราเป็นเจ้าของได้ มีกิจการที่ดีเพียงไม่กี่บริษัทที่เราจะสามารถลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทนสูง  ในโลกนี้ประกอบไปด้วยธุรกิจที่ดีเด่น ธุรกิจที่แย่ และธุรกิจที่ไม่ดีไม่เลว  จงจำกัดการค้นหาธุรกิจนั้นโดยมองย้อนไปถึงประวัติเก่าๆของกิจการนั้นๆ
"นักลงทุนควรที่จะคิดเสมอว่าการลงทุนนั้นเปรียบเสมือนการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตซึ่งมีได้เพียงยี่สิบครั้งเท่านั้น  ดังนั้นการตัดสินใจทุกครั้งจะต้องไตร่ตรองให้ดีเพราะหากพลาดไปจะเหลือโอกาสอีกไม่มาแล้ว"
ธุรกิจที่ดีจะเสมือนว่ามีทางด่วน  ซึ่งลูกค้าต้องจ่ายเพื่อข้ามไปสู่จุดหมายปลายทางที่เขาต้องการ  และสิ่งนี้จะทำให้กิจการนั้นสามารถเติบโตได้ตลอดไป ดังตัวอย่างเช่น
บริษัทหลายบริษัทจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ สินค้าและบริการของตัวเอง  ซึ่งบริษัทโฆษณาก็จะสามารถได้รับผลประโยชน์จากความต้องการโฆษณานี้ด้วย
ผู้ชายส่วนใหญ่จำเป็นต้องโกนหนวด และผู้หญิงก็อาจจะโกนขนขา  สำหรับกิจการที่ผลิตมีดโกนที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างเช่น Gillette ซึ่งสามารถยึดคลองตลาดที่ไม่มีวันหดหายไปได้เลย  และจะเติบโตไปตามการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก
ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่มักจะมีคุณสมบัติต่างๆดังนี้
1 ไม่ซับซ้อน (Simplicity) กิจการเหล่านี้จะเข้าใจได้ง่ายๆ  และใช้การบริหารแบบธรรมดา
2 ธุรกิจเสมือนมีสิทธิพิเศษที่แข็งแกร่ง (Strong business franchises) ธุรกิจเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จาก ค่าความนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Goodwill) เช่นสามารถปรับราคาขึ้นได้โดยที่ลูกค้าไม่มีความขัดข้อง
3 สามารถคาดการได้ (predictability) สามารถคาดการผลประกอบการได้อย่างมั่นใจ
4 ผลตอบแทนจากเงินทุนสูง (High return on Equity) สามารถที่จะมีผลตอบแทนจากเงินทุนได้สูงโดยไม่ต้องอาศัยการตบแต่งบัญชี (Creative  Accounting) หรือการใช้เงินลงทุนจากการกู้  ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนนี้สำคัญกว่าตัวเลขกำไรต่อหุ้นที่หลายๆคนให้ความสำคัญเสียอีก

5 สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ดี (Strong Cash Generation) เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องมีการลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันให้สูงอยู่ตลอดเวลา  ธุรกิจที่แข็งแกร่งจริงจะใช้เงินลงทุนเพียงเล็กน้อยก็สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมั่นคง
6 อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น (Devotion to Shareholder  Value) การที่มีผู้บริหารที่ซื่อสัตย์ และมีฝีมือทุ่มแรงกายแรงใจให้แก่งานของบริษัท  เพื่อสร้างมูลค่าให้กิจการตลอดเวลา
ในการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจจงจำไว้ว่า "ราคาคือสิ่งที่เราจ่าย  มูลค่าคือสิ่งที่เราได้รับ" ดังนั้นการลงทุนใดๆเราต้องคำนึงถึงส่วนต่างเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) ระหว่างราคากับมูลค่าให้มากไว้  เพื่อหากว่าเราเกิดความผิดพลาดขึ้นก็ยังไม่ทำให้เราขาดทุนมาก
ในการประเมินมูลค่าที่แท้จริงนั้น วอร์เร็น มักจะใช้วิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discount  Cash flow) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า DCF วิธีการนี้คือการประมาณกระแสเงินสดในอนาคตที่กิจการจะได้รับ  และคิดลดกระแสเงินสดนั้นกลับมา ณ  ปัจจุบันโดยใช้อัตราคิดลดที่ปราศจากความเสี่ยงโดยเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล  อาจจะเป็น10ปีหรือน้อยกว่านั้น  ซึ่งผลที่ได้สามารถบอกเราได้ถึงส่วนต่างของราคาปัจจุบันกับมูลค่าซึ่งนั่นก็คือส่วนต่างเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) ไม่สนในการเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้น วอร์เร็นเคยพูดไว้ว่า "หลังจากที่ซื้อหุ้นแล้ว  ผมจะไม่สนใจตลาดหุ้นเลยและถึงแม้ว่าตลาดหุ้นจะปิดทำการยาวนานถึง10ปีก็ตาม  ทั้งนี้ก็เพราะว่าผมมั่นใจธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วนั้นมีมูลค่าที่แท้จริงของมันซึ่งผมไม่จำเป็นต้องให้ตลาดหุ้นมารับรู้ด้วยก็ได้"
วอร์เร็นจะขายหุ้นก็ต่อเมื่อ
ถ้ามูลค่าที่แท้จริงของกิจการไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามอัตราที่ควรจะเป็น
ถ้ามูลค่าตลาดของกิจการเพิ่มสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่ประเมินได้มากจนเกินไป

http://iam.hunsa.com/nidaitm/article/95021

MONEY TALK - ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี VI

ธนาคารกรุงเทพ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ 99 ปี ด้วยความเชื่อมั่นของธนาคารกลางประเทศเวียดนาม

ธนาคารกรุงเทพ สาขาประเทศเวียดนาม ได้รับความเชื่อมั่นจากธนาคารกลางแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มอบใบอนุญาตดำเนินกิจการธนาคารอายุ 99 ปี ภายหลังจากใบอนุญาตล่าสุดที่มีอายุ 20 ปี ครบอายุในปีนี้ ด้วยระยะเวลามากกว่า 50 ปี ที่เปิดให้บริการในประเทศเวียดนาม สามารถสะท้อนความมั่นคงแข็งแกร่ง ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การเงินการธนาคารในเวียดนาม พร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้เป็นอย่างดี
นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นับเป็นความยินดีอย่างยิ่งที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาประเทศเวียดนาม ได้รับความเชื่อมั่นจากธนาคารแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมอบใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารในเวียดนามอายุ 99 ปี นับเป็นธนาคารต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตเป็นระยะเวลายาวนานสูงสุด ต่อเนื่อง จากใบอนุญาตฉบับก่อนหน้านี้ที่มีอายุ 20 ปี ที่ครบอายุในปี
พ.ศ.2555 นี้ ส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพทั้ง 2 สาขาในประเทศเวียดนาม ได้แก่สาขาโฮจิมินห์ซิตี้ และสาขาฮานอย สามารถให้บริการลูกค้าภายใต้ใบอนุญาตฉบับดังกล่าวได้ถึงปีพ.ศ.2654 "การได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารที่มีอายุ 99 ปี ในครั้งนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของธนาคารแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามที่มีต่อการเปิดให้บริการของธนาคารในช่วงที่ผ่านมาด้วยประสบการณ์มากกว่า 50 ปี ในประเทศเวียดนาม ธนาคารกรุงเทพได้รับการยอมรับตลอดจนความไว้วางใจจากประชาชนและทางการเป็นอย่างดี อีกทั้งธนาคารแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้มอบรางวัลเกียรติคุณ (Certificate of Merit) ให้กับธนาคารกรุงเทพ "เพื่อยกย่องความสำเร็จอันโดดเด่นและผู้นำด้านการธนาคาร" ในปีพ.ศ.2551-2553"
นายไชยฤทธิ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับในประเทศเวียดนาม ธนาคารกรุงเทพได้เริ่มเปิดให้บริการสาขาไซง่อนในปีพ.ศ.2504 ก่อนหยุดให้บริการเนื่องจากภาวะสงครามในปีพ.ศ.2518 ภายหลังสงครามสิ้นสุดธนาคารกรุงเทพถือเป็นธนาคารต่างประเทศแห่งแรกที่สามารถกลับไปเปิดให้บริการที่สาขาโฮจิมินห์ซิตี้ในปีพ.ศ.2535 และสาขาฮานอย ในปีพ.ศ.2537 ปัจจุบันมีนายธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไป สาขาประเทศเวียดนาม รับผิดชอบคอยดูแลและให้บริการ ด้วยความมั่นคงแข็งแกร่ง ความรู้ความเข้าใจ เครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ทำให้ธนาคารสามารถตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าทุกกลุ่มได้อย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้งลูกค้าชาวไทยที่อาศัยอยู่ในเวียดนาม ลูกค้าชาวเวียดนาม และนักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการใช้โอกาสการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ขยายกิจการสู่เวียดนาม ซึ่งธนาคารมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจของลูกค้าในเวียดนามเป็นไปอย่างราบรื่น และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจที่ลูกค้าได้ขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว
"การขยายเครือข่ายสาขาในต่างประเทศ นับเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของธนาคาร ที่มุ่งมั่นตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ปัจจุบันธนาคารมีเครือข่ายสาขาจำนวน 26 แห่ง ใน 13 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งในรูปแบบที่เป็นสาขาของธนาคาร หรือธนาคารท้องถิ่นในประเทศ รวมไปถึงสำนักงาน ผู้แทน ด้วยเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางและมั่นคงนี้ทำให้ธนาคารกรุงเทพ เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของภูมิภาค ที่มีความพร้อมสูงสุด สำหรับรองรับการหลอมรวมกันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต"
         www.bangkokbank.com    (10 กันยายน 2555)

SCB ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 2 หมื่นล้านบาทขายเกลี้ยงภายใน 1 วัน

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนที่จองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิจำนวน 20,000 ล้านบาทของธนาคารอย่างล้นหลาม จนสามารถจัดจำหน่ายได้ครบเต็มจำนวนเพียง 1 วัน  สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อความแข็งแกร่งของธนาคาร โดยการระดมเงินระยะยาวในครั้งนี้จะนับเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในเงินกองทุนขั้นที่ 2 ของธนาคาร เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อและธุรกิจในอนาคต
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารขอขอบคุณนักลงทุนที่ได้มอบความไว้วางใจในการจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิ วงเงิน 20,000 ล้านบาท อายุ 12 ปี ที่ธนาคารได้เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 5- 14 กันยายน 2555 ผ่านสาขาของธนาคารทั่วประเทศ จนทำให้ธนาคารสามารถจำหน่ายหุ้นกู้ได้ทั้งหมดก่อนกำหนด โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1 วัน สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อความแข็งแกร่งของธนาคารทั้งทางด้านฐานะทางการเงินที่มั่นคงและผลประกอบการที่เจริญเติบโตโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารจะมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าต่อไป ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและตอบโจทย์ได้ทุกความต้องการ
สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิธนาคารไทยพาณิชย์ วงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท อายุ 12 ปี ซึ่งปิดการจำหน่ายลงก่อนกำหนดนั้น มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.65% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ ชำระเงินต้นครั้งเดียว และครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้วันที่ 17 กันยายน 2567 โดยผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดหลังครบ 7 ปีนับตั้งแต่วันออกหุ้นกู้ ได้รับการจัดอันดับจาก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระดับ AA- เป็นทางเลือกในการลงทุนระยะยาวที่มีผลตอบแทนแน่นอน ด้วยความเสี่ยงในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยสูง

กสิกรไทย แนะบุกตลาดพม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย รับมือเศรษฐกิจโลกและประชาคมอาเซียน

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2555 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของปีนี้ ทางธนาคารมองว่ายังคงมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องคอยจับตามองอย่างใกล้ชิด อาทิ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการสนับสนุนประเทศในโซนยุโรป ซึ่งทำให้ยูโรโซนอาจสั่นคลอนได้อีกครั้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นไปอย่างเชื่องช้าและมีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลล่าห์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าส่งออกควรปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงส่วนต่างของกำไรที่อาจจะลดลง อีกทั้งการรวมตัวของประชาคมอาเซียนที่จะมีการปรับลดอัตราภาษีในปีหน้า ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นอีกขั้นหนึ่งโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกษตร และสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนภายในประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยที่ช่วยลดผลกระทบในเชิงลบจากปัจจัยภายนอกได้ ในส่วนของการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการรายใหญ่ มีโครงการที่ต้องการไปลงทุนและไปลงทุนแล้วรวมกว่า 400 โครงการ ประเมินเป็นมูลค่ารวมได้กว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่ไปลงทุนในประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) และอินโดนีเซีย อุตสาหกรรมหลักที่ไปลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยจากการศึกษาของทางธนาคารพบว่าประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตด้วยปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ ประเทศพม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม การลงทุนในต่างประเทศยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจึงแนะนำให้ผู้ประกอบการทำการค้ากับประเทศดังกล่าวระยะหนึ่งก่อนเพื่อทำความเข้าใจตลาด ก่อนที่จะลงทุนกับประเทศนั้น ๆ ทั้งนี้ จากการทำความเข้าใจธุรกิจและความต้องการของลูกค้าในเชิงลึก ธนาคารกสิกรไทยมีความพร้อมในการให้บริการและสนับสนุนการค้าการลงทุนและการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) แก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อให้เติบโตในเวทีโลกอย่างยั่งยืน นายวศิน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทางสายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัท ธนาคารกสิกรไทยได้มีแผนรองรับและเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์อยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าจะสามารถทำยอดสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยได้ตั้งเป้าสินเชื่อคงค้างสิ้นปีเติบโตที่ประมาณ 8% หรือใกล้คียงกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และตั้งเป้าเติบโตค่าธรรมเนียมประมาณ 10-12% โดยธนาคารจะมุ่งเน้นกลยุทธ์การบุกตลาดต่างจังหวัด (Urbanization) ที่เป็นหัวเมืองหลัก เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญในการเชื่อมต่อการค้าการลงทุนของการค้าชายแดนและประชาคมอาเซียน สำหรับผลประกอบการของสายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัทในครึ่งปีแรก มียอดสินเชื่อคงค้างที่ 368,000 ล้านบาท โดยสามารถสร้างการเติบโตที่รายได้จากค่าธรรมเนียมและรายได้ดอกเบี้ยที่ไม่ได้มาจากสินเชื่อประมาณ 18% ทำให้รายได้โดยรวมเติบโตจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน 13% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธนาคารสามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มยอดรายได้ค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกมีโครงการสำคัญคือ การให้สินเชื่อโครงการในอุตสาหกรรมพลังงานที่มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 84,000 ล้านบาท และการให้สินเชื่อแก่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ต่างจังหวัด รวมถึงการให้บริการแก่ธุรกิจค้าปลีกในด้านการบริหารเงินสดที่สะท้อนการมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจที่เติบโตในตลาดต่างจังหวัด หรือ urbanization อย่างเป็นรูปธรรมของธนาคาร      (วันอังคารที่ 4 กันยายน 2555 )  www.kasikornbank.com